อินเดียเจอเชื้อรามรณะ ระบาดซ้ำในผู้ป่วยโควิด-19 เสี่ยงทุพพลภาพ

48

เชื้อรามรณะ mucormycosis

อินเดียเจอเชื้อรามรณะ ระบาดซ้ำในผู้ป่วยโควิด-19 เสี่ยงทุพพลภาพ

สถานการณ์โควิด-19 ในอินเดียยังคงสาหัส ระบบสาธารณสุขล่มสลายหลังยอดผู้ติดรายวันยังคงอยู่ที่กว่า 3 แสนราย โดยล่าสุดพบว่า มีการระบาดของ “เชื้อรามรณะ” ในคนไข้ที่อยู่ในช่วงพักฟื้น หรือเพิ่งหายจากโรคโควิด-19

“เชื้อรามรณะ” หรือการติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส (mucormycosis) เป็นเชื้อราที่พบได้ยาก ทว่าเป็นอันตราย การติดเชื้อร้ายแรงนี้มักส่งผลต่อจมูก ดวงตา และสมองในบางครั้ง

นพ. อักษัย นาอีร์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตา ซึ่งทำงานที่โรงพยาบาล 3 แห่งในนครมุมไบ หนึ่งในเมืองที่เผชิญโควิด-19 ระบาดรุนแรงที่สุดในระลอกที่สอง กล่าวว่า เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบคนไข้ราว 40 รายเกิดอาการติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส หลายคนเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่หายจากโควิด-19 และพักฟื้นอยู่ที่บ้าน ในจำนวนนี้ 11 คน ต้องเข้ารับการผ่าตัดเอาดวงตาออก

ในระหว่างเดือน ธ.ค. ปี 2020 ถึงเดือน ก.พ. ปี 2021 เพื่อนร่วมงาน 6 คนของ นพ.นาอีร์ ที่ทำงานอยู่ในเมืองมุมไบ, บังกาลอร์, ไฮเดอราบัด, ปูเน และนิวเดลี รายงานพบการติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส 58 ราย โดยคนไข้ส่วนใหญ่มักติดเชื้อหลังหายป่วยจากโควิด-19 ไปแล้วประมาณ 12 – 15 วัน

พญ.เรณุกา บราดู หัวหน้าแผนกหู จมูก และคอ ของโรงพยาบาลไซออน ในนครมุมไบที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส 24 รายในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มจากปกติที่จะพบผู้ติดเชื้อชนิดนี้เพียงปีละ 6 ราย

ในจำนวนนี้ 11 คน ต้องสูญเสียดวงตา และอีก 6 คนเสียชีวิต คนไข้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยกลางคนที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิสหลังจากหายป่วยจากโควิด-19 ได้ประมาณ 2 สัปดาห์

มิวคอร์ไมโคซิส (mucormycosis) คืออะไร

มิวคอร์ไมโคซิส คือการติดเชื้อที่พบได้ยากมาก โดยเกิดจากการได้รับเชื้อราสกุล “มิวคอร์” (mucor) ซึ่งมักพบอยู่ในดิน ต้นไม้ ปุ๋ยคอก รวมทั้งผลไม้และผักที่เน่าเสีย แต่นพ.นาอีร์ บอกว่า “มันมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง โดยพบในดิน อากาศ หรือแม้แต่ในจมูก และน้ำมูก ของคนสุขภาพดี”

เชื้อชนิดนี้ส่งผลกระทบต่อ “ไซนัส” ซึ่งเป็นโพรงอากาศที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะบริเวณใบหน้า รวมทั้งสมอง และปอด อีกทั้งยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำอย่างรุนแรง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง หรือผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์

แพทย์เชื่อว่า เชื้อมิวคอร์ไมโคซิส ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมอยู่ที่ 50% อาจถูกกระตุ้นจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการวิกฤต

สเตียรอยด์ช่วยลดการอักเสบของปอดผู้ป่วยโควิด และดูเหมือนจะช่วยหยุดยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานหนักเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ยาชนิดนี้จะไปลดภูมิคุ้มกัน และเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดของคนไข้โควิดทั้งที่เป็นเบาหวาน และไม่ได้เป็นเบาหวาน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เชื่อว่า ภูมิคุ้มกันที่ลดลงอาจกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส

นพ.นาอีร์ อธิบายเรื่องนี้ว่า “โรคเบาหวานทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง เชื้อไวรัสโคโรนาเร่งให้ภูมิคุ้มกันทำงานหนักขึ้น ส่วนสเตียรอยด์ซึ่งช่วยต่อสู้กับโควิด-19 เป็นเหมือนน้ำมันเติมเชื้อไฟ”

คนไข้ที่ติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิสมักมีอาการคัดจมูก และมีเลือดไหลออกจากจมูก รวมทั้งอาจมีอาการตาบวมและปวด เปลือกตาตก สายตาพร่ามัว และสูญเสียการมองเห็นในที่สุด นอกจากนี้ยังอาจมีจุดคล้ำบริเวณรอบจมูกได้ด้วย

แพทย์ในอินเดียระบุว่า คนไข้ส่วนใหญ่มักมารักษาช้าเกินไป เมื่อพวกเขาได้สูญเสียการมองเห็นไปแล้ว ทำให้แพทย์ต้องผ่าตัดดวงตาออกเพื่อยับยั้งการติดเชื้อไม่ให้ลุกลามขึ้นไปที่สมอง ในรายที่อาการหนัก คนไข้ได้สูญเสียการมองเห็นทั้งสองข้าง และในบางรายแพทย์ต้องผ่าตัดเอากระดูกขากรรไกรออกเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ

การรักษาด้วยการฉีดยาต้านเชื้อราเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งมีราคาเข็มละ 3,500 รูปี (ราว 1,500 บาท) และต้องทำทุกวันต่อเนื่องกันถึง 8 สัปดาห์ ถือเป็นยาชนิดเดียวที่สามารถรักษาโรคนี้ได้

นพ.ราหุล บาซี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวานที่ทำงานในนครมุมไบบอกว่า ทางเดียวที่จะลดโอกาสการติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิสคือการทำให้แน่ใจว่าคนไข้โควิด-19 ทั้งที่อยู่ระหว่างการรักษา หรือหลังจากหายป่วยแล้วจะได้รับยาสเตียรอยด์ในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม